BAAN KAHABODHI : THE GUESTHOUSE A
“ COLONIAL STYLE ”
“เรือนรับรอง กลิ่นอายไทย-โคโลเนียล ผู้ออกแบบได้รับแรงบันดาลใจมากจาก สไตล์โคโลเนียล (Colonial Style) เป็นศิลปะแบบตะวันตกที่เข้ามาในประเทศไทยตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5-6 ซึ่งอยู่ในยุคล่าอาณานิคม ชาวตะวันตกจะมีการปลูกสร้างอาคารต่างๆ ในเมืองขึ้นของตน รูปแบบอาคารสมัยนั้นจึงมีการผสมระหว่างความเป็นตะวันตกกับความเป็นพื้นถิ่นของประเทศนั้นๆ สำหรับประเทศไทยเองถึงแม้ไม่เคยตกเป็นเมืองขึ้นของชนชาติใดๆ แต่ก็ยังคงได้รับอิทธิพลด้วยเช่นกัน”
ผู้คนสมัยนั้นเรียกสถาปัตยกรรมแบบนี้ติดปากว่า “ตึกฝรั่ง” หรือรู้จักกันดีว่าเป็น “สถาปัตยกรรมอาณานิคม” ซึ่งได้รับอิทธิพลจากกลุ่มคลาสสิก นอกจากนี้ยังมีบางส่วนได้รับอิทธิพลจากกลุ่มโรแมนติกที่นิยมประดับตกแต่งด้วยลวดลายไม้ฉลุที่เรียกกันว่า “เรือนขนมปังขิง” เป็นรูปแบบที่เข้ามาพร้อมกลุ่มมิชชันนารีซึ่งเข้ามาเผยแพร่ศาสนาคริสต์ในดินแดนอาณานิคมและดินแดนใกล้เคียง ดังนั้น “สถาปัตยกรรมแบบมิชชันนารี” จึงถูกจัดไว้ในกลุ่มนี้ด้วย ลักษณะเด่นของรูปทรงอาคารโคโลเนียล คือ มีระเบียงกว้างที่มีเสามารองรับชายคาเรียงตัวกันเป็นจังหวะ ตัวบ้านนิยมใช้โทนสีอ่อนหรือสีพาสเทล อย่างเช่นสีขาว สีครีมงาช้าง เขียวอ่อน ชมพูอ่อน และฟ้าอ่อน ผนังส่วนใหญ่เป็น “ผนังไม้ตีซ้อนเกล็ด” สลับกับผนังปูน อาจมีการประดับตกแต่งด้วยบัวปูนปั้นรอบชายคา และองค์ประกอบของเสาที่บางครั้งก็มีการลดทอนจากเสาโรมัน รั้วนอกบ้านและราวระเบียงนิยมใช้ไม้ทาสีขาวมาเรียงกันเป็นจังหวะที่เรียบง่าย ประตูและหน้าต่างถูกจัดวางอย่างเป็นระเบียบในแนวเดียวกัน นิยมใช้ทั้งทรงสี่เหลี่ยมและทรงโค้งรูปเกือกม้า มักเพิ่มรายละเอียดด้วยเส้นประดับลูกฟักเพื่อแบ่งช่องประตูและหน้าต่างให้ดูน่าสนใจ อาจประดับตกแต่งด้วยบัวปูนปั้นรอบกรอบหน้าต่าง หรือเพิ่มความอ่อนช้อยด้วยไม้ฉลุลายด้านบน และเปิดรับความสดชื่นนอกหน้าต่างด้วยกระบะดอกไม้สีสันสดใส เชื่อมโยงกับสวนภายนอกบ้านที่พัฒนาจากสวนสไตล์คลาสสิก แต่ลดทอนความเป็นทางการและความสมมาตรให้น้อยลง ดูรื่นรมย์เป็นธรรมชาติ